Equity Industries 23 Apr 2025, 03:39

Telecom Sector  (Overweight) – กสทช. กำหนดวันประมูลคลื่นความถี่เป็นวันที่ 29 มิ.ย.


  • กสทช. มีมติให้มีการประมูลคลื่นเพียง 4 ย่านความถี่ในรอบนี้
  • ราคาขั้นต่ำเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เกินกว่าที่เราคาดไว้
  • เราคาดจะมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงสองราย
  • ยังคงมุมมองว่าต้นทุนคลื่นความถี่ของผู้ประกอบการลดลงหลังการประมูล

News Update

  • หนังสือพิมพ์หลายฉบับรายงานเมื่อวานนี้ (21 เมษายน) ถึงมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จากการประมูลในประเด็นเรื่องการประมูลคลื่นความถี่หลังร่างรายละเอียดการประมูลผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมาแล้วสองครั้ง โดยเราสรุปข้อความสำคัญได้ดังนี้
  • วันประมูลคลื่นความถี่ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 29 มิถุนายน 2025 โดยจะประกาศให้ผู้ที่สนใจยื่นขอเข้าร่วมการประมูลได้ในระหว่างวันที่ 29 เมษายน ถึง 28 พฤษภาคม
  • จะมีการประมูลคลื่นความถี่เพียง 4 ย่านในรอบนี้ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่กลุ่มที่สิทธิการใช้งานปัจจุบันจะหมดอายุลงในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ได้แก่ คลื่นความถี่ 850MHz 1500MHz 2100MHz และ 2300MHz ส่วนคลื่นความถี่ที่กลุ่มผู้ประกอบการเรียกร้องคือคลื่นความถี่ 3500MHz จะยังไม่ถูกนำมาประมูลในรอบนี้ คาดเป็นเพราะปัญหาการใช้งานที่อาจส่งผลกระทบต่อกันระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือฯ กับผู้ประกอบการกระจายเสียงโทรทัศน์ซึ่งเป็นผู้ใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน
  • ราคาขั้นต่ำของการประมูลในแต่ละย่านคลื่นความถี่ถูกกำหนดไว้ที่ 1) 7.8 พันลบ. สำหรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850MHz ขนาด 5MHz 2) 1.1 พันลบ. สำหรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1500MHz ขนาด 5MHz 3) 4.5 พันลบ. สำหรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2100MHz ขนาด 5MHz และ 4) 2.6 พันลบ. สำหรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2300MHz ขนาด 10MHz ซึ่งราคาตั้งต้นดังกล่าวสูงกว่าราคาที่เสนอไว้ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะรอบแรกในเดือนมกราคม แต่ต่ำกว่าสมมติฐานราคาสุดท้ายจากการประมูลของเรา (ดู Exhibit 1 ประกอบ)
  • ทั้งนี้ประมาณการกำไรปัจจุบันของเราอยู่บนสมมติฐานว่า 1) ADVANC จะชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2100MHz รวม 15MHz (3 ใบอนุญาต) ที่ราคารวม 1.5 หมื่นลบ. และ 2) TRUE ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 2300MHz รวม 60MHz (6 ใบอนุญาต) ที่ราคารวม 3.0 หมื่นลบ. โดยเราเชื่อว่าจะไม่มีผู้สนใจประมูลคลื่นความถี่ 850MHz เนื่องจากผู้ประกอบการทั้งสองรายมีจำนวนคลื่นความถี่ย่านต่ำเพียงพอแล้ว เช่นเดียวกับคลื่นความถี่ 1500MHz ที่น่าจะไม่มีผู้สนใจประมูลเช่นกันเนื่องจากยังไม่เป็นที่นิยมในการใช้ให้บริการโทรคมนาคมแม้ในตลาดโลก
  • เรามองว่าสมมติฐานดังกล่าวของเรายังสมเหตุสมผลภายใต้ราคาตั้งต้นที่ประกาศออกมาแล้วนี้ เราจึงคงมุมมองของเราว่าการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้จะนำมาซึ่งต้นทุนคลื่นความถี่ที่ลดลงของผู้ประกอบการทั้งสองราย คือ ต้นทุนคลื่นความถี่ของ ADVANC ลดลง 2.9 พันลบ. (เทียบจากค่าเช่าคลื่นความถี่ 2100MHz ในปัจจุบันที่ 3.9 พันลบ. กับต้นทุนค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตใหม่ 1.0 พันลบ. ต่อปี) ส่วนต้นทุนของ TRUE ลดลง 2.5 พันลบ. (ค่าเช่าปัจจุบันของคลื่นความถี่ 2300MHz ปีละ 4.5 พันลบ. เทียบกับค่าตัดจำหน่ายปีละ 2.0 พันลบ.)
  • รายละเอียดการประมูลทั้งหมดคาดจะถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการในวันศุกร์นี้ (25 เมษายน) ซึ่งเราจะนำข้อมูลมาพิจารณาโดยละเอียดอีกครั้ง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเรายังคงมุมมองบวกของเราต่อกลุ่มโทรคมนาคม โดยมองว่ารายได้ของอุตสาหกรรมจะไม่ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดจะอ่อนตัวลงหลังการประกาศขึ้นอัตราภาษีของสหรัฐฯ ในขณะที่ผู้ประกอบการทั้งสองยังสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานได้ต่อเนื่อง รวมถึงต้นทุนคลื่นความถี่ที่จะลดลงหลังการประมูลที่จะเกิดขึ้นนี้ด้วย

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน……

รายงานฉบับภาษาไทย Thai Version

รายงานฉบับภาษาอังกฤษ English Version