Strategy – การผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

- สหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้าสำหรับจีนชั่วคราวเหลือ 30%
- แม้จะยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก แต่ถือเป็นข่าวดี
- หากกลายเป็นมาตรการถาวร จะส่งผลเชิงบวกอย่างมากต่อประเทศไทย
- เราได้คัดเลือกหุ้นที่น่าสนใจรับข่าวบวกนี้
News Update:
- สหรัฐฯ และจีนได้ตกลงกันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อผ่อนคลายสงครามการค้าชั่วคราว โดยลดภาษีตอบโต้ระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน ในช่วงเวลาพัก 90 วันนี้ สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตรา 30% (ลดลงจากเดิม 145%) และจีนจะเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ที่ 10% (ลดลงจากเดิม 125%)
- ขอบเขตของการลดภาษีนั้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และถือเป็นข่าวดีมาก แม้จะยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เนื่องจากการลดภาษีนี้เป็นเพียงชั่วคราว แต่เราคาดว่าตลาดจะตีความเชิงบวกจากข้อตกลงนี้ได้บ้าง
- ประการแรก สหรัฐฯ ดูเหมือนจะผ่อนปรนจุดยืนของตนลงอย่างมาก และอัตราภาษี 30% นี้ หากกลายเป็นอัตราถาวรกับประเทศเป้าหมายหลักของสหรัฐฯ ก็อาจหมายถึงอัตราที่ต่ำกว่านี้มากสำหรับประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจช่วยลดความรุนแรงของภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้
- ประการที่สอง หากสมมุติว่ากลุ่มประเทศ China+1 ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 15% หรือครึ่งหนึ่งของอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากจีน ความเสี่ยงที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และกระแสการค้าจะเปลี่ยนทิศทางจากประเทศในกลุ่ม China+1 ไปยังฐานการผลิตอื่นทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยหากสมมุติว่าประเทศและภูมิภาคอื่นๆ ถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 10% ส่วนต่างภาษี 5% ระหว่างกลุ่ม China+1 กับประเทศอื่นจึงไม่น่าจะมากพอที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ FDI และทิศทางการส่งออก ขณะเดียวกัน จีนยังคงถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่าจีนยังคงมีความจำเป็นต้องกระจายฐานการผลิตออกไปยังประเทศอื่น
- ประการที่สาม จากการประเมินเบื้องต้นของเรา การเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 10-15% ต่อประเทศไทย อาจช่วยหนุนการเติบโตของ GDP ไทยให้กลับมาอยู่ที่ระดับ 2.0-2.2% ต่อปี จากประมาณการปัจจุบันที่ 1.5% และ 1.4% ในปี 2025-26F นอกจากนี้ จากการประเมินคร่าวๆ เป้าหมายดัชนี SET ของเราจะมีอัพไซด์ไปที่ระดับ 1,360 จากเป้าหมายปัจจุบันที่ 1,220 ซึ่งอิงจากสมมุติฐานว่า กำไรของตลาดจะเติบโต 2% เทียบกับประมาณการปัจจุบันที่คาดว่าจะหดตัว 3% และอิงสมมุติฐานว่า PE จะถูกปรับขึ้นจาก 15 เท่า ในปัจจุบัน เป็น 16 เท่า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (16-20 เท่า) อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญต่อมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในประเทศ ยังคงเป็นสภาวะสินเชื่อที่ตึงตัว และการขาดแรงหนุนจากผลของความมั่งคั่ง (wealth effect)
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน……