Equity Industries 22 Jan 2025, 05:51

Telecom Sector  (Overweight) – ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่


  • กสทช. ประกาศการประมูลหกย่านคลื่นความถี่ใน 2Q25
  • ราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้ออกมาต่ำกว่ารอบก่อน
  • เราคาดการแข่งขันจะเบาบางเนื่องจากปริมาณคลื่นเพียงพอต่อสองผู้เล่น
  • เรายังคาดต้นทุนคลื่นความถี่ของผู้ประกอบการลดลงหลังการประมูล

News Update

  • คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่รวมหกย่านความถี่ออกมาเมื่อวานนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่การประมูลจะมีขึ้นพร้อมกันภายในช่วงไตรมาส 2Q25 ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงหลักคือการเปลี่ยนกำหนดการชำระเงินค่าใบอนุญาตเป็น 50% ของราคาประมูลในปีแรก และ 25% ในปีที่สามและห้า จากรอบก่อนหน้าที่เป็นการผ่อนชำระงวดละเท่ากันเป็นเวลา 10 ปี
  • เรามีมุมมองต่อการประมูลของแต่ละย่านคลื่นความถี่ ดังนี้
  • ย่านความถี่ 850MHz จำนวนช่วงความถี่ 10MHz: คลื่น 850MHz จะถูกนำมาประมูลเป็นครั้งแรกหลังจากสิทธิการใช้คลื่นนี้เป็นของ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) มากว่าสิบปี ปัจจุบัน TRUE เช่าใช้คลื่นความถี่นี้จาก NT จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2025 ซึ่งสิทธิของ NT บนคลื่นความถี่นี้จะหมดอายุ แต่เราคาด TRUE จะไม่ประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่นี้กลับไป เนื่องจากมองว่ามีคลื่นความถี่ย่านต่ำเพียงพอแล้วหลังการควบรวมกิจการ เรามองว่าคลื่นนี้จะไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ ADVANC มากเช่นกัน จึงคิดว่าจะไม่มีผู้ประมูลคลื่นความถี่นี้ไป
  • ย่านความถี่ 1500MHz จำนวนช่วงความถี่ 55MHz: การประมูลนี้จะเป็นครั้งแรกที่คลื่นความถี่ 1500MHz จะถูกนำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคม แต่เนื่องจากจำนวนอุปกรณ์และโทรศัพท์มือถือฯที่รองรับการใช้งานบนคลื่นความถี่นี้มีจำนวน เราจึงคาดว่าจะไม่มีผู้ประกอบการเข้าประมูลใบอนุญาตสำหรับคลื่นความถี่ย่านนี้
  • ย่านความถี่ 1800MHz จำนวนช่วงความถี่ 35MHz: ใบอนุญาตชุดที่จะนำมาประมูลในครั้งนี้เป็นส่วนที่เหลือมาจากการประมูลเมื่อปี 2015 และ 2018 โดยปัจจุบันทั้ง ADVANC และ TRUE มีใบอนุญาตรวมเท่ากันที่ 20MHz บนคลื่นความถี่นี้ แต่เนื่องจากราคาตั้งต้นของการประมูลครั้งนี้ที่ 6.2 พันลบ. ต่อใบอนุญาต 5MHz นั้นต่ำกว่าราคาประมูลสุดท้ายในสองครั้งที่ผ่านมาอยู่ถึง 50-55% เราจึงคาดว่าผู้ประกอบการทั้งสองอาจเข้าประมูลเพื่อชิงใบอนุญาตเพิ่มเติม แต่ไม่ได้มองว่าต้นทุนคลื่นความถี่ที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลลบต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากจะถูกชดเชยลงได้ด้วยค่าใช้จ่ายการลงทุนอุปกรณ์เครือข่ายที่ลดลง
  • ย่านความถี่ 2100MHz จำนวนช่วงความถี่ 75MHz: คลื่นความถี่ 2100MHz นี้ถูกแบ่งออกเป็น 15 ใบอนุญาต โดย 12 ใบแรกเป็นย่านคลื่นความถี่บนเทคโนโลยี FDD (ใบละ 5MHz) ส่วนอีกสามใบเป็นย่านคลื่น TDD ซึ่งปัจจุบัน TRUE ถือใบอนุญาตบนคลื่น FDD อยู่หกใบ (รวม 30MHz) ส่วน ADVANC มีใบอนุญาตสามใบ และเช่าจาก NT อีกสามใบ ทั้งนี้ใบอนุญาตดังกล่าวมีความแตกต่างกันคือใบอนุญาตที่ถือโดยผู้ประกอบการทั้งสองจะหมดอายุในปี 2027 แต่สิทธิการใช้ของ NT จะหมดลงในเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้ กสทช. จะทำการประมูลใบอนุญาตทั้งหมดพร้อมกันในครั้งนี้ โดย 9 ใบอนุญาตใหม่บนช่วงความถี่ที่ถือครองโดยผู้ประกอบการในปัจจุบันจะมีอายุเพียง 13 ปี ส่วนอีก 3 ใบอนุญาตที่เป็นช่วงความถี่บนสิทธิของ NT ในปัจจุบันจะมีอายุ 15 ปี แต่ราคาตั้งต้นของใบอนุญาตทั้งหมดเท่ากันที่ 3.4 พันลบ. ต่อ 5MHz เราเชื่อว่าผู้ประกอบการทั้งสองจะประมูลใบอนุญาตเหล่านี้กลับไป โดย ADVANC ประมูลใบอนุญาตเพิ่มเติมเพื่อให้มีช่วงความถี่เท่ากับ TRUE ที่ 30MHz แต่บนสมมติฐานที่ทั้งสองรายจะประมูลใบอนุญาตในปริมาณเท่ากัน จึงจะไม่เกิดการแข่งกันที่รุนแรง และเรามองว่าใบอนุญาตคลื่นความถี่บนเทคโนโลยี TDD จะไม่มีผู้เข้าประมูล
  • ย่านความถี่ 2300MHz จำนวนช่วงความถี่ 70MHz: ปัจจุบัน TRUE เช่าช่วงความถี่ 60MHz บนคลื่นความถี่ 2300MHz นี้จาก NT และด้วยราคาตั้งต้นที่ประกาศออกมาครั้งนี้ต่ำกว่า 10% ของอัตราค่าเช่าที่ TRUE จ่ายให้ NT ในปัจจุบัน เราจึงเชื่อว่า TRUE จะมุ่งมั่นที่จะประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่นี้ไป ส่วน ADVANC ที่ไม่มีอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้งานคลื่นความถี่นี้อยู่ในปัจจุบันจึงน่าจะมีต้นทุนการประมูลแข่งขันที่ด้อยกว่ามาก เราจึงคาดว่า ADVANC จะไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่นี้
  • ย่านความถี่ 26GHz จำนวนช่วงความถี่ 100MHz: ใบอนุญาตที่จะนำมาประมูลเพียงใบเดียวนี้เป็นส่วนที่เหลือมาจากการประมูลเมื่อปี 2020 ซึ่ง ADVANC ได้ใบอนุญาตไปรวมเป็นช่วงความถี่ 1.2GHz ส่วน TRUE ได้ไป 0.8GHz เราใช้สมมติฐานว่าจะไม่มีผู้ประกอบการเข้าประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่านนี้ไปเพิ่มเนื่องจากความต้องการใช้งานคลื่นสำหรับเทคโนโลยี 5G ขั้นสูงนี้ยังมีจำกัด แต่ด้วยราคาใบอนุญาตที่ต่ำ หากมีผู้ประกอบการรายได้เลือกจะเข้าประมูล ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อสถานะการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน……

รายงานฉบับภาษาไทย Thai Version

รายงานฉบับภาษาอังกฤษ English Version