Equity Industries 15 June 2024, 13:57

Utilities (Overweight) – ร่าง PDP ฉบับใหม่ออกมาใกล้เคียงกับที่เราคาดไว้


  • ร่างแผน PDP-2024 ถูกเผยแพร่ออกมารับฟังความคิดเห็น
  • โควตาพลังงานทดแทนออกมามากกว่าที่เราคาด
  • สัดส่วนแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ดีขึ้นช่วยลดราคาไฟฟ้าลง
  • เรายังมองบวกต่อ GULF มากที่สุด

News Update:

สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีการเผยแพร่ร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศไทย (PDP-2024) ออกมาเมื่อวานนี้สำหรับการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยเราสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  • ประมาณการปริมาณการใช้ไฟฟ้าในระบบและความต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดของระบบ ในปี 2037F ถูกปรับลดลงเหลือ 336TWh และ 50GW ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าประมาณการในแผน PDP ฉบับก่อน (PDP-2018 rev.1) อยู่ 9% และ 8% เนื่องจาก สนพ. ใช้สมมติฐานการเติบโต GDP ของประเทศที่ต่ำกว่าเดิม และมองว่าจะมีการหันไปใช้พลังงานไฟฟ้านอกระบบเครือข่ายหลัก (เช่นจากระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ส่วนตัว) มากขึ้น ซึ่งหักล้างความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ต่างๆ รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
  • กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของระบบใน PDP ฉบับใหม่นี้ถูกกำหนดขึ้นภายใต้จุดมุ่งหมายที่จะทำให้การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมาจากพลังทดแทนในสัดส่วนมากกว่า 50% ภายในปี 2037F ภายใต้เกณฑ์การเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of load expectation, LOLE) ต่ำกว่า 0.7 วันต่อปี ทั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 35GW ภายในช่วง 13 ปีข้างหน้า ซึ่งมากกว่าโควตาเดิมใน PDP ฉบับก่อนอย่างมาก และมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ (ดู Ex.2)
  • จากกำลังการผลิตไฟฟ้าในแผน PDP ใหม่นี้ จะทำให้ประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแบบใช้เชื้อเพลิง 48% (41% จากก๊าซธรรมชาติ และ 7% จากถ่านหิน) และสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่ที่ 52% (17% จากพลังงานแสงอาทิตย์ 17% จากพลังงานน้ำ และ 16% จากพลังงานลม)
  • สนพ. คาดการณ์ความต้องการก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ 4,747 mmscfd ในปี 2037F ซึ่งต่ำลง 11% เมื่อเทียบกับแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติฉบับก่อน (Gas Plan 2018) ทั้งนี้เนื่องจากจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับแผนเดิมทำให้ลดความต้องการใช้ก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้า และจากความต้องการก๊าซธรรมชาติที่ลดลงนี้ ประเทศไทยจึงจะมีการพึ่งพาการน้ำเข้าก๊าซฯลดลงในระยะยาว ทำให้ สนพ. คาดราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศต่ำลงในระยะยาวจากสัดส่วนการจัดหาก๊าซฯที่ดีขึ้นนี้ กล่าวคือ มีสัดส่วนของก๊าซฯจากแหล่งในประเทศที่มีราคาต่ำเพิ่มขึ้น และมีการนำเข้าก๊าซฯจากต่างประเทศที่มีราคาสูงในสัดส่วนน้อยลง
  • บนประโยชน์จากการมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเมื่อเทียบกับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในสัดส่วนที่มากขึ้น รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ต่ำลงจากการเปลี่ยนสัดส่วนแหล่งจัดหาก๊าซธรรมชาติ และการเปลี่ยนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ทำให้ สนพ. คาดว่า ราคาไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศไทยจะอยู่ที่ราว 3.87 บาทต่อหน่วยในช่วงปี 2024-37F ซึ่งต่ำกว่าในแผน PDP ฉบับก่อน 2%

มุมมองของเรา: เรายังคงมุมมองบวกต่อ GULF เนื่องจากเราคาดว่าโควตากำลังการผลิตพลังงานทดแทนจำนวนมากที่ประกาศออกมานี้จะถูกนำมาประมูลในรูปแบบของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากรัฐบาล ซึ่งเรามองว่า GULF จะเป็นผู้เล่นที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุด โดยมี GUNKUL เป็นอีกผู้เล่นรายสำคัญ หากดูจากจำนวน PPA ที่ได้รับจากการประมูลรอบก่อน และเนื่องจากโควตาที่ออกมานั้นมีจำนวนมากกว่าที่เราคาด เราเชื่อว่าผู้ประกอบการรายอื่นในกลุ่มฯก็จะมีโอกาสในการได้ PPA ไปมากขึ้น

อีกทั้งเรายังเชื่อว่าราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ต่ำลงได้จะช่วยลดความเสี่ยงนโยบายต่อโรงไฟฟ้า SPP เราจึงยังชอบ GPSC ที่เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า SPP รายใหญ่ และมีความสามารถการแข่งขันสูงในการเข้าร่วมประมูล PPA พลังงานทดแทนที่กล่าวมา

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน……

รายงานฉบับภาษาไทย Thai Version

รายงานฉบับภาษาอังกฤษ English Version